จิตรกรรมฝาผนังวัดร้องแง 02

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพจิตรกรรมส่วนแรกบริเวณหลังพระประธานเป็นเรื่องพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนามีตำนานว่า ในสมัยต้นปฐมกัป มีพญากาเผือกสองตัวผัวเมีย ทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา  พระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิเกิดในครรภ์แม่พญากาเผือก พร้อมกันถึง 5 พระองค์ เมื่อครบทศมาสแม่กาเผือกก็ออกไข่ ณ ที่รังต้นมะเดื่อจำนวน 5 ฟอง (สถานที่นี้ในกาลต่อมาเรียกว่า วัดพระเกิด) และคอยเฝ้า ดูแลรักษาไข่ด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี อยู่ มาวันหนึ่งพญากาเผือกออกไปหากินถิ่นแดนไกล แม่กาเผือกเพลินหาอาหาร จนเกิดลมพายุใหญ่พัดกระหน่ำมืดครึ้มทั่วไปหมด ทำให้หาหนทางออก ไม่ถูก จึงหลงอยู่ในบริเวณสถานที่นั้น (สถานที่นั้นในกาลต่อมาเรียกว่า เวียงกาหลง) เมื่อกลับที่รัง แต่ปรากฏว่ากิ่งไม้มะเดื่อที่ทำรังอยู่ถูกลมพายุใหญ่พัดหักล้มลงไปในแม่น้ำ ต้นไม้มิได้โค่นล้มเพียงอย่างเดียว ฟ้าร้องฟ้าผ่าสายฟ้าฟาดลงมาจนทำให้เกิดเปลวไฟเริ่มที่จะลุกลามแผ่ออกไป ฝ่ายแม่กาขาวผู้มีสติปัญญาเมื่อบินออกจากรังไปก็พยายามที่จะหาทางช่วยหมู่สัตว์ พุ่งตัวลงไปในหนองน้ำเพื่อที่จะเอาหางเอาขนดูดซับน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปากก็อมน้ำอีกส่วนหนึ่งเอาไว้ แล้วก็บินขึ้นสู่ท้องฟ้าพยายามที่จะสลัดปีก สลัดขนพ่นน้ำลงสู่กองไฟใหญ่ แต่น้ำน้อยย่อมที่จะแพ้ไฟ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรได้ แม่กาเผือกตกใจรีบบินถลาหาลูกที่ยังอยู่ในไข่ แต่หาเท่าไรก็ไม่พบ แม่กาขาวจึงได้รำพึงอยู่ในใจว่า ชีวิตของเรานี้หาประโยชน์อันใดมิได้เสียแล้ว ในเมื่อลูกทั้ง 5 ของเราก็ได้พลัดพรากจากเราไปเสียแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราจะขอใช้ร่างกายของเราให้เกิดประโยชน์กับเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เปรียบเสมือนลูกของเราเช่นกัน 

เมื่อคิดดังนั้นแล้วแม่กาขาวก็ตั้งจิตอธิฐานขอใช้น้ำเลือดทั้งหมดที่มีอยู่ในกายธาตุจงช่วยดับไฟเพื่อดับทุกข์เข็นให้มวลหมู่สัตว์ทั้งหลาย พร้อมทั้งวิงวอนเทพาอารักษ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าอาศัยอยู่ตามต้นไม้ ขอจงมารวมพลังช่วยกันดับไฟเพราะเหล่าสรรพสัตว์กำลังเดือดร้อน กำลังจะถูกไฟคลอกตายเสียหมดเมื่ออธิฐานจิตเป็นที่เรียบร้อย แม่กาขาวก็พุ่งทะยานขึ้นไปบนนภากาศ แล้วก็บินดิ่งหัวพุ่งลงมาชนกับต้นไม้ใหญ่คอหักตาย ทำให้โลกธาตุเกิดการสั่นสะเทือนจากการกระทำ ปรมัตถทาน โดยการใช้ชีวิตทานเพื่อช่วยสรรพสัตว์เป็นที่สุดของการให้ทาน เมื่อตายไปแล้วแม่กาขาวก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสอยู่ในวิมานคำปราสาททิพย์ ได้ชื่อว่า “ฆฏิการพรหม” และเมื่อลูกทั้งห้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็จะคอยนำเครื่องอัฐบริขารอันเกิดในดอกบัวทั้งห้าถวายเป็นทานแก่พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ในมหาภัทรกัปนี้ซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากไข่เมื่อครั้งที่ยังเป็นแม่กาขาว

ส่วนไข่ทั้ง 5 ถูกลมพัดตกน้ำไหลไปในสถานที่ต่าง ๆ ไข่ฟองที่ 1 แม่ไก่เก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 2 แม่นาคราชเก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 3 แม่เต่า เก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 4 แม่โคเก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ 5 แม่ราชสีห์เก็บไปดูแลรักษา

ครั้นในกาลเวลาต่อมา พระโพธิสัตว์ทั้ง 5 ก็ประสูติออกจากไข่ ปรากฏเป็นมนุษย์บุรุษรูปงานทั้ง 5 พระองค์ และเจริญเติบโตอยู่กับแม่เลี้ยงด้วยความกตัญญู รู้จักหน้าที่ ทดแทนบุญคุณจนถึงอายุได้ 12 ปี ด้วยบุญกุศลเก่าหนุนส่งก็มีจิตคิดที่จะออกบวชบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี เป็นฤาษีอยู่ในป่า จึงได้อำลาแม่เลี้ยงของตนเหมือนกันทั้ง 5 พระองค์ ฝ่ายแม่เลี้ยงก็ไม่ขัดความประสงค์ อนุญาตให้ลูกไปบวช บำเพ็ญบารมีอยู่ในป่าด้วยความอนุโมทนา กาลเวลาอันยาวนานผ่านไปจนถึงปัจจุบัน พระโพธิสัตว์ลูกแม่กาเผือก 

แม่เลี้ยงทั้ง 5 เป็นปณิธานที่มุ่งมั่น จะบำเพ็ญบารมีพระโพธิญาณ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ในวัฏฏะสงสาร จึงฝากนามของแม่เลี้ยงไว้กับลูกเพื่อเป็นอนุสรณ์ตำนานไว้แก่โลกต่อไปในภาคหน้า เมื่อลูกได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกแล้วตามลำดับพระนามดังต่อไปนี้

องค์ที่ 1 มีพระนามว่า พระกกุสันโธ เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นไก่

องค์ที่ 2 มีพระนามว่า พระโกนาคมโน เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นนาค

องค์ที่ 3 มีพระนามว่า พระกัสสโป เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า

องค์ที่ 4 มีพระนามว่า พระโคตโม เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค

องค์ที่ 5 มีพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรโย เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นราชสีห์

ในกัปนี้ชื่อว่า ภัททกัปเป็นกัปที่เจริญที่สุดเพราะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ถึง 5 พระองค์ จึงเป็นที่มาของ คำว่า “นโมพุทธายะ” นะ คือ พระกกุสันโธ โม คือ พระโกนาคมโน พุท คือ พระกัสสโป ธา คือ พระโคตโมยะ คือ พระศรีอาริยเมตไตรโย จนเป็นคาถาที่ใช้สืบต่อกันมา ฝ่าย พระโพธิสัตว์ ทั้ง 5 เมื่อออกบวชเป็นฤาษีก็ได้บำเพ็ญเพียรพระกัมมัฏฐานจนสำเร็จญาณอภิญญาสมาบัติ อยู่มาวันหนึ่งได้เหาะมาหาอาหารผลไม้ และบำเพ็ญเพียรธรรมที่ป่าดอยสิงกุตตระ ณ ใต้ต้นนิโครธ อันร่มเย็นด้วยกิ่งไม้สาขาใหญ่ ฤาษีทั้ง 5 ได้มาพบกัน ณ ที่นี้โดยไม่ได้นัดหมาย จึงสอบถามถึงความเป็นมาของกันและกันจนรู้ว่าแต่ละองค์ก็มีแต่แม่เลี้ยง ฤาษีทั้ง 5 จึงร่วมกันตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้า ด้วยอำนาจสัจจะอธิษฐานธรรมอันบริสุทธิ์ดังก้องไปถึงพรหมโลก ท้าวฆฏิการพรหม ซึ่งเดิมคือ แม่กาเผือก ทราบเหตุการณ์ทั้งหมดจึงจำแลงเพศเป็นรูปเดิม เป็นกาเผือกขนขาวสวยงาม มาปรากฏตัวอยู่ข้างหน้าของฤาษีทั้ง 5 เมื่อลูกฤาษีได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด ก็รู้สึกสลดสังเวชใจและสำนึกบุญคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก จึงน้อมนมัสการผู้เป็นแม่ กราบขอสัญลักษณ์อนุสรณ์ผู้บังเกิดเกล้าไว้บูชา ได้มาเป็นผ้าฝ้ายเป็นตีนกาสัญลักษณ์ของแม่กาเผือกให้แก่ลูกฤาษีทั้ง 5 ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระ และต่อมาได้กลายเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ลอยกระทง เป็นตำนานสืบไว้ตลอดกาลนาน

จากนั้นฤาษีโพธิสัตว์ทั้ง 5 ต่างพากันตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรรักษาศีลธรรมภาวนามิได้ขาดจนดับขันธ์ ได้ไปจุติบนเทวโลกชั้นดุสิตพิภพ และในกาลต่อมาก็วนเวียนบำเพ็ญเพียรบารมีทุกภพชาติที่กำเนิดเกิดในสงสารวัฏ นี้ จนบารมีเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ทั้ง 30 ทัศแล้ว ก็ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่ต้นกัปโลกา ก็จะนำเอาบริขาร คือ บาตรไตรจีวร มาถวายลูกโพธิสัตว์ทั้ง 5 พระองค์ในชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกทุกพระองค์

ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกไปแล้วถึง 4 พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือองค์ที่ 4 พระโคตโมสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระโพธิสัตว์องค์ที่ 5 อันเป็นลูกองค์สุดท้ายของแม่กาเผือก คือ พระศรีอริยเมตไตรย์ เชื่อว่าจะลงมาโปรดโลกและแสดงให้เห็นต่อไปในภาคหน้า เป็นองค์สุดท้าย

ในภาพจิตรกรรมหลังพระประธาน รูปแบบการเขียนจะเป็นรูปแบบของฝีมือช่างชาวท้องถิ่นชาวไทลื้อ เขียนภาพจิตรกรรมพระพุทธเจ้าไว้ 4 พระองค์ รวมพระประธานก็จะเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ด้านข้างซ้ายสุดเป็นภาพของเทวดา ที่อยู่ในท่าวันทาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ การเขียนพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์และเทวดาอยู่ภายในซุ้ม พระพุทธเจ้าที่เขียนก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่มีประทับบนฐานสูงมีผ้าทิพย์ห้อยด้านหน้า ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากทางกรุงเทพ และที่นั่งประทับราบบฐานเขียงที่ไม่สูงมากนัก ด้านหลังเขียนเป็นต้นไม้ใหญ่พันธ์พฤกษาต่างๆ ที่อยู่ในกรอบเป็นชั้นๆเรียงขึ้นไป ต้นไม้เหล่านี้น่าจะเป็นต้นที่น่าจะเกี่ยวข้องในพุทธศาสนา อย่างเช่น ไม้มะเดื่อที่ทำรังของแม่กาเผือก นิโครธหรือไทรนิโครธในภาษาไทยเรียกว่าต้นกร่าง เป็นต้นไม้ที่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา แล้วเสด็จไปประทับนั่งที่ใต้ไม้อชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา หรือต้นพระศรีมหาโพธิ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิหรืออัสสัตถพฤกษ์ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งภาพเขียนต้นไม้เหล่านี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาต่อไป

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
04/07/2565
RESOURCE TYPE:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดร้องแง  อำเภอปัว จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
02_29_20220704_MR_วัดร้องแง_02
SUBJECT AGE:
ปีพุทธศักราช  2310
CATEGORY:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดร้องแง  อำเภอปัว จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
835 x 280 cm
DIGITAL SIZE:
30326 x 13373  Pixels