Description
Digital Data
ภาพเขียนเจ้าคัทธณะกุมารที่มาพบกับชายร้อยกอ จึงได้เข้าไปประลองกำลังกัน ฝ่ายเจ้าคัทธณะกุมารเป็นผู้ชนะ โดยจับชายร้อยกอกดลงจมดิน กระนั้นชายร้อยกอจึงร้องขอชีวิตจากเจ้าคัทธณะกุมาร ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่หลายชุดด้วยกัน ประกอบด้วย ชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านขวามืออ่านได้ความว่า “ฆิงจะดีปานใดบ่า” แปลว่า “เจ้าจะเก่งขนาดไหนกัน” ถัดมาบริเวณด้านล่างสุด อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธณะเอาไม้ร้อยกอทั่งหล่มลงเพียงหัวแล” แปลว่า “เจ้าคัทธณะกุมารกดไม้ร้อยกอลงจมดินเหลือแต่ส่วนหัว” เเละชุดอักษรล้านนาถัดขึ้นไปบริเวณด้านบนตรงกลาง ด้านหน้าชายไม้ร้อยกอ (พนมมือ) อ่านได้ความว่า “ขอเทอะเจ้า” แปลว่า “ข้าขอขมาเจ้า”
ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทย หรือ การแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพ คือ สวมพระมาลา หรือ หมวกทรงกลมยอดแหลม สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่ง หรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันหมายถึงกางเกง ส่วนในราชาศัพท์ใช้ว่า “พระสนับเพลา” ในมือถือดาบศรีกัญไชย คอนไว้บนบ่าซ้าย เบื้องหน้าห้อยคนโฑทิพย์ ส่วนเบื้องหลังห้อยถุงย่ามที่นิยมใช้กันในหมู่ชาวไทยวนในล้านนาไว้ที่ปลายดาบ เเละสวมพระบาทเชิงงอน
ส่วนชายร้อยกอแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากทางกรุงเทพ คือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าพื้นสีเรียบ มีการตกแต่งที่สาปเสื้อด้านหน้าและที่ต้นแขน สวมหมวกทรงกลมแบบของชาวตะวันตกซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากทางกรุงเทพเช่นกัน นุ่งผ้าผืนเดียวที่มีลวดลายเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ
Physical Data