Description
Digital Data
ภาพเขียนกลุ่มหนุ่มสาวชาวเมืองที่ยืนอยู่หน้ากำแพงเมือง ลักษณะกำลังจับกลุ่มพูดคุยกัน บ้างก็สูบบุหรี่ บ้างก็หาบน้ำ บ้างก็หาบของ บ้างกำลังจะไปตลาด หรือ “กาด” ในภาษาล้านนา
ในบริเวณนี้มีชุดอักษรล้านนาเขียนกำกับไว้ด้วยกันหลายชุด ประกอบด้วย ชุดอักษรล้านนาขวามือบริเวณใต้กำแพงเมือง อ่านได้ความว่า “อันนี้เปนเมิงอินทปัฎฐนครแล” แปลว่า “นี้คือเมืองอินทปัฎฐนคร” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านหลังหญิงชาวเมือง (คนหาบน้ำ) อ่านได้ความว่า “แม่ยิงไปกาด” แปลว่า “แม่หญิงหำลังจะไปตลาด” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาที่อยู่บนกำแพงเมือง ระหว่างกลุ่มหญิงด้านหน้าและกลุ่มชายด้านหลัง บรรทัดบนนั้นเป็นคำพูดของชายหนุ่มด้านหลัง อ่านได้ความว่า “ใส่ใจห่าว” แปลว่า “ข้าสนใจในตัวเจ้า” (คำว่าห่าว เป็นภาษาไทลื้อแปลว่า เรา) เเละชุดอักษรล้านนาบริเวณแถวล่าง เป็นคำพูดถามกลับของหญิงสาวต่อชายหนุ่ม อ่านได้ความว่า “แน่กา” แปลว่า “จริงหรือ”
ภาพเขียนกลุ่มหญิงสาวชายหนุ่มกลุ่มนี้ ถือเป็นภาพที่สะท้อนการแต่งกายของคนในเมืองน่านในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงในเรื่องของการทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านเเละล้านนา
ในภาพหญิงสาวคนหน้าสุดที่กำลังหาบน้ำด้วยคานหาบที่มีการแกะสลักส่วนปลายไว้อย่างสวยงาม ส่วนปลายหน้าเเละหลังมีกระบุงผูกเชือกแขวนอยู่ กระบุงเป็นภาชนะชนิดหนึ่งของชาวล้านนา เรียกว่า “น้ำถุ้ง” ในภาษาล้านนา ทำจากไม้ไผ่ นำมาสานขึ้นรูป เเล้วยาแนวกันรั่วด้วยชันและน้ำมันยาง ส่วนบนมีงวงทำจากไม้ขัดกัน ผูกด้วยเชือก ใช้สำหรับตักน้ำ หรือ หย่อนลงไปตักน้ำขึ้นมาจากบ่อน้ำ หญิงสาวผู้นี้สวมเครื่องแต่งกายรูปแบบหนึ่งของหญิงสาวในเมืองน่านยุคนั้น คือ นำผ้าแถบมามัดอก นุ่งซิ่น “ซิ่นตีนจก” คือตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจก “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง ซึ่งซิ่นป้องนี้เป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ซึ่งมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในเส้นแนวขวางลำตัวมากกว่าซิ่นต๋า ดังที่ปรากฎในภาพเขียนจิตรกรรม เป็นกรรมวิธีการทอที่เรียกว่า “มัดก่าน” หรือ ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ บนลายเส้นในแนวขวางลำตัวเพิ่มเติม ส่วนด้านล่างต่อด้วย “ตีนจก” ที่มีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านจะมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น
ส่วนกลุ่มหญิงสาวที่อยู่ด้านหลังสวมเครื่องแต่งกายอีกรูปแบบหนึ่งของเมืองน่าน ประกอบด้วย กลุ่มหญิงสาวด้านบน คือ เปลือยอกและนำมาแถบมาห่มแบบสไบเรียกว่า “สะหว้ายแล่ง” ถัดเป็นเป็นหญิงสาวคนแรกด้านขวาสุด นุ่งซิ่นม่าน คำว่า “ม่าน” ในภาษาล้านนาแปลว่าพม่า ผ้าซิ่นม่านอาจจะได้รับอิทธิพลโครงสร้างมาจากซิ่นของหญิงชาวพม่า เลยนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อของซิ่นชนิดนี้ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีลักษณะเส้นในแนวขวางลำตัว แต่จะมีการแบ่งช่องขวางลำตัวไม่เท่ากัน ซิ่นชนิดนี้มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่เรียกว่า “มัดก่าน” หรือ ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ ซิ่นม่านถือเป็นผ้าซิ่นอีกชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น
ถัดมาเป็นหญิงสาวคนที่สอง นุ่งซิ่นซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา และมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในเส้นแนวขวางลำตัวมากกว่าซิ่นต๋า ทอด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่บนลายเส้นในแนวขวางลำตัวเพิ่มเติม ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ถัดมาคือหญิงสาวสองคนแถวหน้าซ้ายมือ นุ่งซิ่นตีนจก ตีนซิ่นทอด้วยกรรมวิธีการจก “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหมู่หญิงชาวไทยวนในล้านนา คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆ ให้เกิดลวดลายเพิ่มในแนวเส้นขวางลำตัว เช่น ผ้าซิ่นตีนจกของหญิงสาวคนที่สองจากซ้าย ส่วนของท้องซิ่นจะมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่เรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ บนลายเส้นในแนวขวางลำตัว ส่วนด้านล่างต่อด้วย “ตีนจก”ซึ่งมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน หญิงสาวทั้งกลุ่มนี้ไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำ และไม่สวมรองเท้า หญิงสาวในกลุ่มนี้สะพายตะกร้า หรือ “ก๋วย หรือ ซ้า” ในภาษาล้านนา สำหรับใช้จับจ่ายซื้อของที่ตลาด
ส่วนกลุ่มชายหนุ่มด้านหลังทั้ง 4 คนนั้นสวมเครื่องเเต่งกายที่มีความหลากหลายชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางสังคมของชาวเมืองน่านในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ในภาพชายคนแรกบริเวณขวาสุดในกลุ่มที่กำลังต่อบุหรี่ หรือ “บุหรี่ขี้โย” ในภาษาล้านนา กับหญิงสาว สวมเครื่องแต่งกายที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพเข้ามาผสมผสานกับการแต่งกายของชายชาวเมืองน่านในยุคนั้น คือ สวมเสื้อคอกลมแขนยาว มีผ้าคลุมไหล่ผืนใหญ่ มีการตกแต่งขอบผ้าทั้งสี่ด้าน สวมแหวนทองวงใหญ่ไว้ที่นิ้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นชายผู้มีฐานะดีในเมือง ถัดมาเป็นชายหนุ่มด้านหน้าถัดจากชายคนเเรก ไม่สวมเสื้อเปลือยอก นำผ้ามาคล้องคอ นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว ชายหนุ่มสองคนแสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย แต่อีกสองคนนั้นไม่ได้แสกกลาง นำดอกไม้มาทัดหูที่น่าจะเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชายในเมืองน่าน ส่วนชายหนุ่มอีกสองคนด้่นหลังมีการเเต่งกายคล้ายกับชายคนแรกที่กล่าวไป
Physical Data