Description
Digital Data
ส่วนชายไม้ร้อยกอ เเละชายเกวียนร้อยเล่มแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากทางกรุงเทพ คือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าพื้นสีเรียบ มีการตกแต่งที่สาปเสื้อด้านหน้าและที่ต้นแขน สวมหมวกทรงกลมแบบของชาวตะวันตกซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากทางกรุงเทพเช่นกัน นุ่งผ้าผืนเดียวที่มีลวดลายเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ ในมือถือไม้แบกไว้ที่บ่า ด้านหน้าเเละด้านหลังมีถุงย่ามห้อยไว้ เเละห้อยดาบไว้ด้านหลัง ดาบที่ชายร้อยกอห้อยอยู่บ้านฝักและด้ามดาบทำจากเงิน เรียกว่า “ดาบหลูบเงิน” ในภาษาล้านนา ส่วนถุงย่ามที่ห้อยด้านหน้าเป็นถุงย่ามสีขาว ซึ่งเป็นถุงย่ามที่นิยมกันทั่วไปในหมู่ชาวไทยวนในล้านนา ส่วนถุงย่ามสีแดง เป็นถุงย่ามที่นิยมกันในหมู่ชาวไทลื้อ ภาพเขียนนี้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวไทยวนและชาวไทลื้อในเมืองน่านในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
Physical Data