Description
Digital Data
ภาพจิตรกรรมบริเวณกลางผนังของมุขทิศตะวันตก บริเวณเหนือประตูทางเข้า เป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าเนมิราชเสด็จเข้าเฝ้าพระอินทร์ ณ สุธรรมาเทวสภา ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับ อยู่ด้วยหลายชุด ตั้งแต่ในสุธรรมาเทวสภา บริเวณช่องกลางของปราสาทอ่านได้ความว่า “พระญาอิน” แปลได้ว่า “พระอินทร์” ช่องที่สองฝั่งขวาอ่านได้ความว่า “พระญาเนมินราด” แปลได้ว่า “พระเจ้าเนมิราช” ช่องที่สามฝั่งขวาอ่านได้ว่า “วิสูกำ” แปลได้ความว่า “พระวิสุกรรม” ด้านข้างปราสาทฝั่งขวาอ่านได้ความว่า “เมิงตาวตึงสาแล” แปลได้ว่า “สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ ตรัยตรึงศ์, ไตรตรึงษ์” ด้านตะวันออกนอกกำแพงมีต้นไม้ใหญ่ ใต้ต้นไม้มีอักษรล้านนา อ่านได้ความว่า “อันนี้เป็นไม้ปาลึกชาต” แปลได้ว่า “นี้คือต้นปาริชาต”
ในภาพเมื่อพระเจ้าเนมิราชเสด็จลงจากราชรถเข้าสู่เทวสภา ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์เชิญเสด็จให้ประทับนั่งบนทิพยอาสน์ ในที่ใกล้ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ ณ บัดนี้เถิด ท้าวสักกเทวราช ทรงยินดีต้อนรับพระองค์ผู้เป็นพระราชาแห่งชาววิเทหรัฐ ผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา เนื่องจากความดีแล้วที่พระองค์ทรงได้กระทำไว้ ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน อันเป็นที่อยู่ของเทวดาทั้งหลาย ผู้ยังสิ่งที่ตนประสงค์ให้เป็นไปได้ตามอำนาจ ขอเชิญประทับอยู่ในหมู่เทวดา ผู้สำเร็จด้วยทิพยกามทั้งมวล ขอเชิญเสวยทิพยกามารมณ์ ในหมู่เทพเจ้าชาวดาวดึงส์เถิด เมื่อทรงแสดงประทับอยู่ 7 วัน โดยการนับในมนุษย์ ได้เสด็จกลับเมืองมิถิลา เทวสภาเป็นปราสาทตรีมุขยอดแหลม ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากรูปแบบของสถาปัตยกรรมจากทางกรุงเทพ ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ พระเนมิราชและพระวิสุกรรมหรือพระมาตุลีบุตร ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทยหรือ การแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพคือ สวมพระมหามงกุฎหรือพระชฎา มีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลาคือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ส่วนเหล่านางฟ้าเห็นได้แต่เฉพาะท่อนยน สวมพระเกี้ยวมีกระบังหน้า มีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก เปลือยอกและสวมกรองศอ
ส่วนด้านนอกเทวสภาเบื้องตะวันออกมีต้นปาริชาต คือหนึ่งในห้าของดอกไม้สวรรค์ที่มีอยู่บนชั้นดาวดึงส์ อันประกอบด้วย ปาริชาต กัลปพฤกษ์ มณฑารพ หริจันทน์ และสันตาน ต้นปาริชาตจะอยู่นอกเมืองดาวดึงส์ออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในอุทยานใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า ปุณฑริกวัน ปาริฉัตร ฮินดูเรียก มังการา ชื่อพื้นเมืองคือ ทองหลาง ปาริชาติ ทองบ้าน ปาริฉัตรพฤกษชาติจากดาวดึงส์ เป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งพระองค์นำกลับมายังโลก เมื่อคราวทรงไปเก็บพรรณไม้ในสวรรค์เพื่อปราบพยศชฎิลดาบส ทรงประทับที่โคนไม้ปาริฉัตร อันเป็นต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนปุณฑริกวันของพระอินทร์ มีแท่นหินอยู่ใต้ต้น ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียก บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
Physical Data