Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังบริเวณด้านทิศเหนือของมุขทิศตะวันออก ภาพเขียนบริเวณนี้เสียหายไปค่อนข้างมาก เนื่อจากการรั่วซึมของน้ำฝนที่ตกลงบนภาพเขียน แต่ก็ยังหลงเหลือรายละเอียดของภาพอยู่บ้าง ที่พอจะสามารถพิจารณาเเละวิเคราะห์เนื้อหาของชาดกได้
ภาพเขียนบริเวณนี้มีด้วยกัน 2 เหตุการณ์ ประกอบด้วย เหตุการณ์เเรกบริเวณฝั่งซ้ายมือของฝาผนัง เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเดินทางมาถึงเมืองขวางทะบุรี พบว่าทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง ซึ่งเรื่องราวในตอนนี้น่าจะอยู่บริเวณที่ภาพเขียนลบเลือนไป จากนั้นจึงเขียนเล่าเรื่องต่อไปที่เหนือหน้าต่าง เป็นเหตุการณ์ในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเข้าไปสำรวจภายในเมือง เเล้วไปพบนางกองสีที่ซ่อนอยู่ในกลองใบใหญ่ใบหนึ่ง จึงได้ไตร่ถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ครั้นเมื่อสดับได้ดังนั้นจึงทราบว่าพญาขวางทะบุรี และชาวเมืองไม่อยู่ในศีลในธรรม พญาแถนจึงประสงค์ให้เกิดความสงบโดยเร็ว ครั้นเมื่อกลุ่มควันลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ฝูงงูฟาง (งูชนิดหนึ่ง) จำนวนมากก็ตกลงมาจากท้องฟ้า เข้ากัดกินผู้คน เเละทำลายเมืองจนกลายเป็นเมืองร้าง มีเพียงนางกองสี ผู้เป็นพระธิดาของเจ้าเมืองที่รอดชีวิต เนื่องจากนางถูกพระบิดาซ่อนเอาไว้ในกลอง ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ ที่ฝาผนังด้านหลังเจ้าคัทธณะกุมาร อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธณะถามนางว่า เมิงอันนี้เป็นสัจจาว่าอั้น นางชานตอบว่า งูมากินเสี้ยงขาบาทแล้ว” แปลว่า “เจ้าคัทธณะกุมารถามนางกองสีว่าเกิดอันใดขึ้น นางกองสีตอบว่าชาวเมืองผิดศีลผิดธรรม งูลงมากินหมดเมือง”
ในภาพจะเห็นว่าเจ้าคัทธณะกุมารอุ้มนางกองสีออกมาจากกลองใบใหญ่ กลองในภาพเป็นกลองแบบที่เรียกว่า “กลองปู่จา” ในภาษาล้านนา ครั้นนำนางกองสีออกจากกลองเเล้วเจ้าคัทธณะกุมารจึงไต่ถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยมีชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่มนั่งฟังอยู่ด้านข้าง
ส่วนภาพเขียนบริเวณฝั่งขวามือของฝาผนังนี้ เขียนเรื่องราวในตอนสุดท้ายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองขวางทะบุรี เป็นเรื่องราวภายหลังจากเจ้าคัทธณะกุมารปราบงูร้าย เเละชุบชีวิตเจ้าเมือง เเละเหล่าชาวเมืองให้ฟื้นคืนจากความตาย ครั้นนั้นเจ้าเมืองขวางทะบุรีสำนึกในบุญคุณ จึงยกนางกองสีให้แก่เจ้าคัทธนกุมาร เเละแต่งตั้งชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่มเป็นอุปราชแสนเมือง มีข้าทาสบริวารมากมายรายล้อม บ้านเมืองสงบร่มเย็น ครั้นล่วงไปได้ 11 เดือน จึงหวนนึกถึงจุดหมายคือการตามหาบิดา จึงยกเมืองขวางทะบุรีให้กับชายไม้ร้อยกอ และให้นางกองสีเป็นคู่ครองเรือนต่อไป ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเมืองขึ้นใหม่ นามว่า “เมืองนครราศ” จากนั้นจึงเขียนเล่าเรื่องต่อไปที่ด้านขวามือของหน้าต่าง ของฝาผนังด้านเหนือ ของมุขทิศตะวันออก เขียนภาพชายไม้ร้อยกอและนางกองสีครองเมืองนครราศ
Physical Data