จิตรกรรมฝาผนังมุขทิศตะวันออกฝั่งด้านเหนือ และฝาผนังด้านเหนือของมุขทิศตะวันออก 1.4

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังด้านเหนือหน้าต่างของฝาผนังด้านนี้ เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเข้าไปสำรวจในเมืองขวางทะบุรี เเละไปพบกลองใบใหญ่ใบหนึ่งบนหอกลอง จึงใช้ไม้เคาะดู ได้ยินเสียงประหลาดภายในกลอง จึงใช้ดาบฝ่าลงไปที่หน้ากลอง จึงได้พบนางผู้หนึ่งอยู่ในกลอง นามว่า “นางกองสี” นางผู้นี้เป็นพระธิดาของเจ้าเมืองขวางทะบุรี กระนั้นเจ้าคัทธณะกุมารจึงไต่ถามนางกองสีถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเมืองขวางทะบุรี นางจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เจ้าคัทธณะกุมารความว่า “ครั้งหนึ่งเมืองขวางทะบุรีแต่เดิมขุนบรมราชาเป็นผู้สร้างขึ้นซึ่งมีประกาศห้ามไว้ว่าทุก ๆ วันที่ 7 และ 8 ค่ำ วันที่ 14 และ 15 ค่ำ ในวันข้างขึ้นเเละข้างแรมห้ามชาวเมืองทำบาปใดๆ หากใครฝ่าฝืนคำสั่งจะเกิดความพินาศแก่ตนเองและบ้านเมือง ชาวเมืองต่างพากันปฏิบัติเป็นนิจ บ้านเมืองจึงสงบร่มเย็นเรื่อยมา จนถึงยุคสมัยของผู้เป็นพระบิดา พระองค์ไม่ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย ร้อนถึงพญาแถนซึ่งเป็นเทวดาผู้ใหญ่บนสวรรค์ต้องจัดการให้เมืองขวางทะบุรีสงบโดยเร็ว หากเมื่อใดมีกลุ่มควันลอยขึ้นสูงเทียมฟ้า พญาเเถนจักส่งงูฟาง (งูชนิดหนึ่ง) จำนวนมากลงมาจากท้องฟ้า เข้าทำลายกัดกินผู้คนเสียสิ้น จนบ้านเมืองจึงกลายเป็นเมืองร้าง มีเพียงข้าพเจ้าที่รอดชีวิต อันเป็นเพราะพระบิดาพาไปซ่อนไว้ในกลองใหญ่ใบนี้ ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่บริเวณฝาผนังด้านหลังเจ้าคัทธณะกุมาร อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธณะถามนางว่า เมิงอันนี้เป็นสัจจาว่าอั้น นางชานตอบว่า งูมากินเสี้ยงขาบาทแล้ว” แปลว่า “เจ้าคัทธณะกุมารถามนางกองสีว่าเกิดอันใดขึ้น นางกองสีตอบว่าชาวเมืองผิดศีลผิดธรรม งูลงมากินหมดเมือง”

ภาพเขียนบริเวณนี้มีอาคารอยู่ด้วยกัน 2 หลัง ประกอบด้วย หอกลอง มีลักษณะเป็นอาคารโถง เเละเรือนไม้มีฝา มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบเมืองน่านกับสถาปัตยกรรมกรุงเทพ 

ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องเเต่งกายอย่างกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมาลายอดเกี้ยว หรือ หมวกทรงกลมยอดแหลม สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกง ในคำราชาศัพท์เรียกว่า “พระสนับเพลา” เเละเหน็บดาบศรีกัญไชยไว้ที่เอว 

ส่วนนางกองสีแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา สวมผ้าซิ่น (ไม่สามารถเห็นรายละเอียดของภาพเนื่องจากจิตรกรรมลบเลือนไป) ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะนุ่งผ้าซิ่นตีนจก ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักด้วยปิ่นทองคำ หรือ  “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เเละสวมกำไลทองคำไว้หลายวง

ส่วนชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่มแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งรับอิทธิพลจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ ชายไม้ร้อยกอสวมเสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าสีเรียบ มีการตกแต่งที่สาปเสื้อด้านหน้าและที่ต้นแขน ส่วนชายเกวียนร้อยเล่มสวมเสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าที่มีลวดลาย ทั้งสองสวมหมวกทรงกลมแบบชาวตะวันตก ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) นุ่งผ้าผืนเดียวที่มีลวดลายเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ เเละสวมหมวกทรงกลมที่นิยมกันในหมู่ชายชาวตะวันตกในยุคนั้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels