Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในส่วนต่อเนื่องของเรื่องราวภายหลังจากชาวเมืองขวางทะบุรีฟื้นคืนจากความตาย (บริเวณฝาผนังข้างหน้าต่างฝั่งซ้ายมือ) จึงพากันเดินเข้ามาถามนางกองสี ว่าบุรุษผู้นี้เป็นใครมากจากไหน นางกองสีจึงเเจ้งเเก่พระบิดาเเละเหล่าราษฏรว่า เขาคือผู้มีบุญ เป็นผู้ชุบชีวิตพระบิดา พระมารดา เเละเหล่าชาวเมืองน้อยใหญ่ให้ฟื้นคืนจากความตาย ครั้นเจ้าเมืองขวางทะบุรีได้ฟังดังนั้น จึงสำนึกในบุญคุณ จึงยกนางกองสีให้แก่เจ้าคัทธนกุมาร เเละแต่งตั้งชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่มเป็นอุปราชแสนเมือง มีข้าทาสบริวารมากมายรายล้อม บ้านเมืองสงบร่มเย็น
ในภาพเจ้าคัทธณะกุมาร เเละนางกองสีประทับนั่งอยู่บนปราสาท ถัดไปบริเวณด้านบนเขียนภาพของชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่มลักษณะกำลังพูดคุยกับอยู่ในศาลา ถัดลงมาบริเวณด้านล่างเขียนภาพของพญาขวางทะบุรี พระชายา เเละเหล่าชาวเมืองน้อยใหญ่ ที่ฟื้นคืนจากความตาย เดินเข้าไต่ถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากนางกองสี
ในภาพพญาขวางทะบุรีงทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทย หรือ สวมเครื่องแต่งกายคล้ายกับละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพ คือ สวมพระมหามงกุฎ หรือ พระชฎา มีกรรเจียก คือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก และสวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน
ส่วนเจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทย หรือ สวมเครื่องแต่งกายคล้ายกับละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพ คือ สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน
ส่วนนางกองสีสวมเครื่องแต่งกายแบบคเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอก นำมาแถบมาห่มแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” หรือ ซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา แต่ “ซิ่นตีนจกคำ” ที่นางกองสีใส่นั้นเป็นซิ่นตีนจกคำ ที่มีรูปแบบเฉพาะของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆให้เกิดลวดลายเพิ่มในแนวเส้นขวางลำตัว ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธี “การยก” ด้วยดิ้นคำ หรือ ดิ้นทองคำ ส่วนด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือ ตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกที่มีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือ ไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา เเละยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะที่สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน และไม่สวมรองพระบาท
ส่วนพระมเหสี พระชายาของพญาขวางทะบุรี แต่งกายแบบเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอกและนำมาแถบมาห่มแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” และแบบ “ตั้งเกล้า” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำที่มวยผมเรียกว่า “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง
ส่วนหญิงชาวเมืองในภาพเห็นเพียงส่วนบน ซึ่งมีรูปแบบการเเต่งกายคล้ายคลึงกับพระมเหสีที่กล่าวไว้ในข้างต้น เเตกต่างกันที่เครื่องประดับที่ประดับไว้บนศรีษะเท่านั้น
ส่วนชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่ม สวมเครื่องแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งรับอิทธิพลจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมเสื้อแขนยาวคอกลมที่ทำมาจากผ้าพื้นเรียบและผ้าที่มีลวดลาย นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย
ส่วนชายชาวเมืองที่เห็นเพียงท่อนบน สวมเครื่องแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งรับอิทธิพลจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมเสื้อแขนยาวคอกลมทำมาจากผ้าพื้นเรียบและผ้าที่มีลวดลาย บ้างก็ไว้ผมทรงมหาดไทยแบบแสกกลางของทางภาคกลาง และไม่แสกกลาง ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพเช่นเดียวกัน
Physical Data