Description
Digital Data
จิตรกรรมฝั่งด้านซ้ายของฝาผนังด้านทิศตะวันตกของมุขทิศใต้ จิตรกรรมด้านล่างสุดเป็นเรื่องราวตอนที่น่าจะเป็นเจ้าคัทธณะกุมาร ทรงสนทนาธรรมกับเหล่าพระฤาษีผู้ทรงศีล ภายในอาศรมของพระฤาษี ด้านข้างหน้าต่างน่าจะเป็นตอนเจ้าคัทธณะกุมารทรงทอดพระเนตร ผู้ทรงศีลทรมานตนเพื่อให้บรรลุธรรม ด้านบนเหนือหน้าต่างฝั่งซ้าย มีอักษรล้านนากำกับอยู่ ซ้ายสุดอ่านได้ความว่า “พระยาเวดสุวัน” แปลว่า “ท้าวเวชสุวรรณ” อักษรชุดกลางอ่านได้ความว่า “ผีเสิดบก” และขวาสุดอ่านได้ความว่า “ผีเสิดน้ำ” แปลทั้งสองคำว่า เป็นผีชนิดหนึ่งที่คนในล้านนาเชื่อว่ามีอยู่บนบกและในน้ำ ในภาพบริเวณนี้เป็นเหตุการณ์ที่ท้าวเวชสุวรรณ ขณะกำลังจุดบอกไฟ หรือบั้งไฟ และด้านหลังมีผีเสือบกและผีเสือน้ำ
ในภาพด้านล่างที่น่าจะเป็นเจ้าคัทธณะกุมาร ทรงสนทนาธรรมกับเหล่าพระฤาษีผู้ทรงศีล ภายในอาศรมของพระฤาษี โดยอาศรมพระฤาษีนั้นสร้างออกมาจากหน้าผา เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาในยุคนั้น ที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบจากทางกรุงเทพมาผสมผสาน ส่วนภาพของเจ้าคัทธณะกุมารนั้นลบเลือนไปพอสมควร เจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทยหรือ การแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพคือ สวมพระมหามงกุฎหรือพระชฎา มีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ส่วนพระฤาษีนุ่งห่มแบบนักบวชสวมหมวกทรงสูง
ส่วนการแต่งกายของท้าวเวชสุวรรณที่เห็นเฉพาะครึ่งบน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทยหรือ การแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพคือ สวมพระชฎาที่ดูคล้ายพระชฎาห้ายอด มีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน ส่วนผีเสือบกและผีเสือน้ำเห็นเฉพาะครึ่งบนเช่นกัน แต่งกายคือใส่เสื้อคอกลมแขนสั้น ทำจากผ้าพื้นเรียบเขียนลายที่ดูคล้ายเสื้อลงยันต์คาถา ส่วนผีเสือบกนั้นสวมชฎาที่มีฐานเป็นกลีบๆยอดแหลมปลายยอดชี้ไปด้านหลัง
Physical Data