Description
Digital Data
จิตรกรรมบริเวณเหนือหน้าต่างฝั่งขวา มีอักษรล้านนากำกับอยู่ ชุดอักษรด้านบนอ่านได้ความว่า “เจ้าเมืองตักกสิราใช้คนมาเชิญเจ้าคัทธณะขึ้นไปแล” แปลได้ว่า “เจ้าเมืองตักศิลาให้คนมาเชิญเจ้าคัทธณะกุมารไปยังเมืองตักศิลา” ด้านล่างมีข้อความไม่ครบ อ่านได้ความว่า “…ต่อออกงาช้างเจ้าคัทธณะ…ข้าได้ถอด….เมืองตักกะศิลาพาย..ลง…” เนื่องจากข้อความขาดหายไปมากพอสมควร จึงมิสามารถแปลได้ ในภาพจิตรกรรมบริเวณนี้ลบเลือนเสียหายไปพอสมควร แต่ยังพอเห็นรายละเอียดได้บ้าง เป็นเหตุการณ์ตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเหาะมาด้วยงาช้างวิเศษ ที่ผู้เป็นพระบิดาประทานให้ ภาพจิตรกรรมของเจ้าคัทธณะกุมารส่วนนี้เหลือแต่บริเวณขาล่าง ด้านหลังน่าจะเป็นตอนที่เจ้าคัทธณะกุมาร ขณะใช้ของวิเศษต่างๆที่มีอยู่เช่นดาบศรีกัญไชย เป็นต้น ด้านหน้ามีเจ้าพนักงานมาทูลเชิญเสด็จไปยังเมืองตักศิลา
เครื่องทรงของเจ้าคัทธณะยังคงเป็นรูปแบบเดียวกันกับภาพอื่นๆคือ ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทยหรือ การแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางกรุงเทพคือ สวมพระมหามงกุฎหรือพระชฎา มีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลาคือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ส่วนเจ้าพนักงานจากเมืองตักศิลานั้น เห็นแต่เฉพาะท่อนบน มีการแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายรูปแบบจากทางกรุงเทพคือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมแขนยาวทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบ ไว้ทรงผมที่เรียกว่า “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย
Physical Data