Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมขนาดใหญ่บริเวณข้างประตูของมุขทิศตะวันออก ซึ่งในพระวิหารวัดภูมินทร์นี้ช่างเขียนได้เขียนภาพขนาดใหญ่ไว้ด้วยกัน 3 มุข ประกอบด้วย มุขทิศตะวันออก มุขทิศใต้ และมุขทิศตะวันตก ซึ่งมุขทิศตะวันออกและมุขทิศตะวันตกเขียนภาพไว้มุขละ 1 ภาพ ซึ่งการเขียนภาพบุคคลขนาดใหญ่ไว้ที่ข้างประตูนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะเฉพาะ เเละเป็นเอกลักษณ์ในเมืองน่าน ที่ไม่สามารถพบได้ทั่วไปในล้านนาในภาพเป็นภาพเขียนหญิงผู้หนึ่งขนาดใหญ่เกือบเท่าคน ลักษณะกำลังนำดอกกุหลาบมาทัดที่ผม ในบริเวณนี้มีชุดอักษรล้านนาเขียนกำกับไว้ อ่านได้ความว่า “นางสีไว” นางผู้นี้คือหญิงชายาของเจ้าคัทธณะกุมาร ครั้งที่อยู่เมืองจำปานคร ซึ่งจะเป็นเรื่องราวในส่วนต่อไปของชาดก ที่เขียนไว้บนฝาผนังของมุขทิศใต้
หญิงในภาพสวมเครื่องแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง บนศรีษะไว้ผมยาวมุ่นมวย เรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ เเละปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป นุ่งซิ่นม่าน คำว่า “ม่าน” ในภาษาล้านนาแปลว่าพม่า ผ้าซิ่นม่านนี้อาจมีโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลมาจากผ้าซิ่นของหญิงชาวพม่า เลยนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อของซิ่นชนิดนี้ ซึ่งมีลักษณะเส้นในแนวขวางลำตัว มีการแบ่งช่องไม่เท่ากัน เเละมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ซิ่นม่านถือเป็นผ้าซิ่นอีกชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น
Physical Data