Description
Digital Data
ภาพเขียนบริเวณด้านล่างสุดบริเวณเสาวิหาร เขียนภาพภาพชายหนุ่มทั้งหลายที่เดินทางมายังเมืองจำปานคร เพื่อนำผ้าของต้นมาต่อกับผ้าค่าเเสนคำที่เจ้าคัทธนกุมารได้มอบให้นางสีดา เป็นของต่างหน้า ครั้งที่ได้ช่วยนางจากนางยักษ์ โดยความเดิมมีอยู่ว่า เมื่อพระนางสีดากลับถึงจำปานคร ก็ทรงนำความไปบอกแก่พญาจำปานคร ผู้เป็นพระราชบิดา ว่ามีบุรุษผู้หนึ่งนามว่าคัทธนกุมาร ได้ช่วยตนจากนางยักษ์ เเละได้ฉีกผ้าค่าเเสนคำผืนหนึ่งให้นางไว้เป็นของเเทนใจ เมื่อพญาจำปานครได้รับฟังพระธิดาของตนเล่าดังนั้น จึงมีบัญชาให้สืบหาเจ้าของผ้าดังกล่าว หากมีชายใดสามารถนำผ้าของตนมาต่อกับผ้าค่าแสนคำนี้ได้ จะยกพระธิดาและเมืองจำปานครให้ครอง
ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับไว้ด้วยกัน 2 ชุด คือ ชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านซ้าย อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธณะเดิน” แปลได้ว่า “เจ้าคัทธณะกุมารได้เดินออกมา” และด้านขวาอ่านได้ความว่า “ฅนหมู่…เขาก็ว่าจัก..ทัง..เชิงผ้า หวังจักได้เป็นพญาเจ้าเมืองแล” แปลได้ประมาณว่า “เหล่าชายหนุ่มในเมืองต่างนำผ้า มาเทียบเพื่อต่อกับผ้าแสนคำ เพราะหวังจะได้เป็นพญาครองเมืองจำปานคร”
ชายในภาพแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลรูปแบบการแต่งกายจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมเสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบ เปลือยอกเอาผ้าแถบมาคล้องคอห้อยชายไปด้านหลัง นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ“นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบนมัดเอวด้วยผ้า เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ
Physical Data