จิตรกรรมทิศใต้ฝั่งตะวันออก และฝาผนังฝั่งตะวันออกของมุขทิศใต้ 1.6

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณมุมขวาบนของหน้าต่าง ของมุขทิศใต้ ฝั่งตะวันออก เขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นณ ปราสาทเมืองจำปานคร ในบริเวณนี้มีด้วยกัน 2 เหตุการณ์ ประกอบด้วย

เหตุการณ์แรกเป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธนกุมารขึ้นครองเมืองจำปานคร จึงจัดให้มีการสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ในภาพเจ้าคัทธนกุมารประทับนั่งอยู่ภายในปราสาท เบื้องขวามีพระนางสีดาเป็นมเหสีฝ่ายขวา เบื้องซ้ายมีนางนางแก้วสีไวเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย 

เหตุการณ์ที่ 2 เป็นเรื่องราวภายหลังจากเจ้าคัทธนกุมารขึ้นปกครองเมืองจำปานครเรื่อยมา วันหนึ่งเสนาอมาตย์เข้ามาทูลว่ามีทัพใหญ่มาตั้งอยู่หน้าเมือง เหตุการณ์นี้เนื่องด้วยข่าวลือเรื่องความงามของพระนางสีดา ธิดาในพญาเมืองจำปานคร ที่มีความงามประดุจนางอัปสร จึงเป็นที่หมายปองของเหล่าบุรุษทั่วสารทิศ จึงเป็นต้นเหตุของการยกทัพมาตียังเมืองจำปานครเพื่อหวังชิงตัวนางสีดา 

ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด ประกอบด้วย ชุดอักษรล้านนาบริเวณภายในปราสาท ตรงกลางอ่านได้ว่า “เจ้าคัทธณะ” ถัดไปบริเวณฝั่งขวาอ่านได้ว่า “นางสีไว” เเละฝั่งซ้ายอ่านได้ว่า “นางสีดา” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านล่างหน้าปราสาทฝั่งซ้าย เขียนทั้งอักษรไทยและล้านนา อักษรไทยเขียนว่า “พระนาแจ้งเสิก” แปลได้ว่า “พระยานามาแจ้งว่ามีข้าศึกมาประชิดเมือง” และภาษาล้านนาอ่านได้ความว่า “เขาไหว้เจ้าคัทธณะว่า ข้าเสิกมาจนเวียงแล้ว พระบาทบอกว่าข้าเสิกเข้าประชิดพระนครแล้วพระบาท” แปลได้ความว่า “ขอกราบทูลเจ้าคัทธณะกุมารว่า บัดนี้มีข้าศึกยกทัพมาประชิดพระนครแล้วพระเจ้าข้า” 

ปราสาทในภาพเป็นปราสาทตรีมุข ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) ภายในปราสาทมีการประดับด้วยโคมแก้ว ที่น่าจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าปราสาททอดตั้งเครื่องทองน้อยทองคำ กระโถนทองคำ และคนโฑ หรือ “น้ำต้น” ในภาษาล้านนา ด้านบนมีขันทองคำครอบอยู่ 

ในภาพเจ้าคัทธนกุมารทรงเครื่องแบบอย่างกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมหามงกุฎ หรือ พระชฎา มีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่ง หรือ เข็มขัด มีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ในมือถือดาบศรีกัญไชย เเละสวมฉลองพระบาทปลายงอนทองคำ

ส่วนนางสีดาและนางสีไว เเละเหล่านางสนมกำนัล เห็นเพียงส่วนบนสวมเครื่องแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบที่ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นางสีไวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา ยอดมวยมีเกี้ยวทองคำยอดแหลม มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือ สร้อยทองคำ ส่วนนางสีดาทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทองคำ ส่วนเหล่านางสนมกำนัลแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ และเหล่าสตรีทั้งหมดนี้เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป

ส่วนเหล่าเสนาอมาตย์ที่เข้าเฝ้าด้านหน้าปราสาท แต่งกายคล้ายข้าราชการในกรุงเทพยุคนั้น คือใส่เสื้อคอตั้งแขนยาว ทำจากผ้าพื้นที่มีลวดลายและผ้าพื้นสีเรียบ มีผ้าคาดเอว นุ่งโจงกระเบนที่เป็นผ้าพื้นที่มีลวดลายและผ้าพื้นสีเรียบ ซึ่งน่าจะเป็นผ้าที่มาจากต่างประเทศ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
62,342×20,703 Pixels