Description
Digital Data
ภาพจิตรกรรมบริเวณด้านซ้ายของหน้าต่าง ฝั่งด้านตะวันออกบนผนังสกัดของมุขทิศใต้ จิตรกรรมในบริเวณนี้เสียหายไปบางส่วน โดยเฉพาะด้านล่างสุด จิตรกรรมบริเวณนี้เป็นเรื่องราวตอนจบส่วนแรกของเจ้าคัทธณะกุมารที่เมืองจำปานคร เป็นเรื่องราวที่เกิดในพระราชวังหลังจากเจ้าคัทธณะกุมารได้ นางสีดาและนางสีไวมาเป็นชายา มีเจ้าคัทธจันเป็นโอรสเกิดแก่นางสีดา และเจ้าคัทเนตรเกิดจากนางสีไว หลังจากครองเมืองจำปานคร พสกนิกรมีความสุขบ้านเมืองร่มเย็น เจ้าคัทธนกุมารจึงพระดำริจะเสด็จหัวเมืองเพื่อเยี่ยมเยียนพญาร้อยเอ็ดและทรงดำรัส สั่งสอนพระธรรมต่างๆ จนเป็นที่ชื่นชมแก่พญาทั้งหลาย หลังจากทรงแสดงธรรมแล้วจึงได้ ออกเดินทางสู่ป่าหิมพานต์เพื่อตามหารอยเท้าช้างผู้เป็นบิดา ซึ่งเรื่องราวในส่วนต่อจากนี้ ได้ไปเล่าเรื่องต่อที่ฝาผนังฝั่งด้านใต้ของมุขทิศตะวันตก
ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด เริ่มตั้งแต่ระหว่างตำหนักสองหลัง มีอักษรล้านนาอ่านได้ความว่า “เจ้าแม่นายแม่เอา” แปลได้ว่า “พูดปรามลูกไม่ใหเ้ล่นกับ พี่เลี้ยงมากเกินไป” ทางซ้ายมือภายในตำหนัก อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธจัน” และในสุดของตำหนัก อ่านได้ความว่า “นัสสหนม” แปลว่า “นางสนม” และด้านล่างที่พื้นตำหนัก หน้านางสีดา อ่านได้ความว่า “นางสีดาพา(ไป) เจ้าคัธณะในเวียงแล” จิตรกรรมเริ่มเล่าเรื่องที่บริเวณด้านซ้ายด้านบนเหนือหน้าต่าง เป็นเรื่องราวที่หน้าตำหนักสองหลังที่ตั้งอยู่บนชานเดียวกัน ตรงกลางเป็นนางสีดาเดินนำ น่าจะเป็นเจ้าคัทเนตรขี่คอมหาดเล็กเดินตามหลัง ด้านหน้าภายในตำหนัก เจ้าคัทธจันขี่หลังเล่นอยู่กับหญิงพี่เลี้ยง ซ้ายขวามีเหล่านางสนมกำนัลเฝ้าแหนอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนจิตรกรรมบริเวณด้านล่างข้างหน้าต่าง จิตรกรรมได้เสียหายลบเลือนไปส่วนมาก น่าจะเป็นตอนนางสีดาพาเจ้าคัทธณะกุมารไปเยี่ยมชมในเมือง ซึ่งในส่วนนี้ภาพจิตรกรรมได้ลบเลือนไปเกือบหมด เหลือแต่ด้านข้างหน้าต่างที่เป็นเหล่าเสนาอมาตย์ นั่งเข้าเฝ้าที่ข้างศาลาใกล้กับกำแพงเมือง
Physical Data