Description
Digital Data
ภาพจิตรกรรมบริเวณด้านซ้ายด้านบนเหนือหน้าต่าง เป็นเรื่องราวที่หน้าตำหนักสองหลังที่ตั้งอยู่บนชานเดียวกัน ตรงกลางเป็นนางสีดาเดินนำ มีเจ้าคัทเนตรขี่คอมหาดเล็กเดินตามหลัง ด้านหน้าภายในตำหนัก เจ้าคัทธจันขี่หลังเล่นอยู่กับหญิงพี่เลี้ยง ซ้ายขวามีเหล่านางสนมกำนัลเฝ้าแหนอยู่เป็นจำนวนมาก ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด เริ่มตั้งแต่ระหว่างตำหนักสองหลัง มีอักษรล้านนาอ่านได้ความว่า “เจ้าแม่นายแม่เอา” แปลได้ว่า “พูดปรามลูกไม่ใหเ้ล่นกับ พี่เลี้ยงมากเกินไป”ทางซ้ายมือภายในตำหนัก อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธจัน” และในสุดของตำหนัก อ่านได้ความว่า “นัสสหนม” แปลว่า “นางสนม” และด้านล่างที่พื้นตำหนัก หน้านางสีดา อ่านได้ความว่า “นางสีดาพา(ไป) เจ้าคัธณะในเวียงแล”
การแต่งกายของนางสีดามีการแต่งกายรูปแบบคล้ายเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือสวมเสื้อคอกลมแขนสั้นและนำมาแถบมาห่มแบบสไบ ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” แปลว่าซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา แต่“ซิ่นตีนจกคำ” ที่นางกองสีใส่นั้น เป็น “ซิ่นตีนจกคำ” ที่มีรูปแบบเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง และจะมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆ ให้เกิดลวดลายเพิ่มในแนวเส้นขวางลำตัว ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ บนลายเส้นในแนวขวางลำตัว ด้านล่างต่อด้วย”ตีนจกคำ” คือตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำหรือไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา ส่วน “ตีนจก” ยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน และไม่สวมรองเท้า
ส่วนเจ้าเจ้าคัทธจันแต่งกายคล้ายเด็กชายที่เป็นเจ้านายทางกรุงเทพคือ นุ่งแต่ผ้าเตี่ยวผืนเล็กผืนเดียว แต่ประดับด้วยเครื่องทรงที่เป็นทองคำ มีทั้งสร้อย สังวาล ห้อยทับทรวง ใส่กำไลข้อมือและต้นแขน พร้อมกำไลข้อเท้า ที่ล้วนทำจากทองคำ โกนผมและมีการไว้จุกแบบทางกรุงเทพ ส่วนที่น่าจะเป็นเจ้าคัทธเนตรที่ขี่คอมหาดเล็กอยู่นั้น เนื่องจากจิตรกรรมด้านบนลบเลือนไปแต่พอเห็นได้บางส่วน ก็น่าจะมีการทรงเครื่องทองคล้ายเจ้าคัทธจันคือโกนผมและไว้จุกเช่นเดียวกัน เปลือยอกด้านล่างนุ่งกางเกงขายาวหรืออาจะเป็นการนุ่งผ้าลอยชาย คล้ายการนุ่งโสร่ง ส่วนมหาดเล็กมีการแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายรูปแบบจากทางกรุงเทพคือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบ นุ่งผ้าพื้นผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ“นุ่งผ้าต้อย”หรือ“เค็ดม่าม”โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ทรงผมที่เรียกทรงผมนี้ว่า “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว มีทั้งการไว้แบบทรงแสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย และไม่ได้แสกกลาง ที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพเช่นกัน
ส่วนเหล่านางสนมกำนัลมีการแต่งกายรูปแบบคล้ายหญิงในเมืองน่านในสมัยนั้น คือด้านบนเปลือยอกและนำมาแถบมาห่มแบบสไบ ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่งซิ่นที่ในเมืองน่านเรียกว่า “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา และมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ บนลายเส้นในแนวขวางลำตัว ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น มุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน หรือแผ่นเงิน นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป นางสนมที่เดินตามสีดามีคนหนึ่งที่เชิญชุดขันหมากคำ(ทองคำ) เดินตามมาในขบวนด้วย
Physical Data