จิตรกรรมทิศใต้ฝั่งตะวันตก 1.11

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณด้านล่างสุดข้างหน้าต่าง เป็นภาพแห่นางสีดา พระราชธิดาในพญาเมืองจำปานคร ที่กำลังเสด็จไปยังปราสาทของนางยักษ์ เพื่อเป็นเครื่องสังเวย ตามคำมั่นสัญญาของพระบิดา ว่าจะส่งนักโทษมาเป็นอาหารแก่นางยักษ์ทุกวัน วันละ 1 คน

นางสีดาและเหล่านางสนมกำนัลในภาพแต่งกายคล้ายกับหญิงไทยวนในล้านนายุคนั้น คือ เปลือยอกและนำผ้าแถบมาคล้องคอพาดไปด้านหลัง นุ่งซิ่นที่มีรูปแบบคล้าย “ซิ่นม่าน” ที่พบได้เฉพาะในเมืองน่าน แต่ซิ่นที่นางสีดาและเหล่าสนมกำนัลนุ่งนั้น มีการตกแต่งตีนซิ่นให้ดูแปลกออกไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจตนาของผู้เขียนที่ต้องการให้เห็นความแตกต่างว่าเป็นหญิงของเมืองจำปานคร แต่ทั้งนี้ก็ยังคงความดั้งเดิมของซิ่นเมืองน่านไว้อยู่ ส่วนบนศรีษะนั้นทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน ทำจากแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป นอกจากนี้นางสนมกำนัลในภาพยังหิ้วตะกร้า หรือ “ซ้า” ในภาษาล้านนา อีกคนถือคนโฑน้ำมีฝาครอบทำจากเงิน เรียกว่า “น้ำต้น” ในภาษาล้านนา

ส่วนทหารที่จูงราชรถอยู่นั้นสวมเครื่องแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมเสื้อแขนยาวคอกลม ทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบและผ้าที่มีลวดลาย นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวเรียกว่า นุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ทผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ

ราชรถที่นางสีดาประทับนั่งอยู่นั้น มีความคล้ายคลึงกับราชรถที่นางสุชาตดึงสา ใช้เพื่อเสด็จไปยังอุทยานหลวง ในชาดกเรื่อง “จันทคาธชาดก” บนภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังทิศเหนือ วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ราชรถนั้นถือเป็นยานแห่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ชนิดพระราชยาน และยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
62,342×20,703 Pixels