Description
Digital Data
ภาพเขียนนางยักษ์ ที่กำลังเข้าจับเอานางสีดาออกจากปราสาท หมายจะจับกินด้วยความโทสะ ที่ข้าวของ เครื่องใช้ บนปราสาทของตนเเตกหักเสียหายไปเสียสิ้น ทั้งยังเห็นบุรุษรูปงามกำลังพลอดรักกับหญิงสาวบนปราสาทของตน นางจึงบรรดารโทสะวิ่งเข้าจับชายหญิงทั้งสองมากินเป็นอาหาร
ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทย หรือ การแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ ทรงสวมสวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ
ส่วนนางสีดาสวเครื่องแต่งกายอย่างเจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา คือ เปลือยอกแต่มีผ้าแถบมาคล้องคอคลุมไหล่ ด้านล่างนุ่งซิ่น ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา บริเวณยอดมวยมีเกี้ยวทองคำยอดแหลม มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทองคำ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมสร้อยทองขนาดใหญ่และกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน
ส่วนนางยักษ์สวมเครื่องเเต่งกายคล้ายกับการแต่งกายในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมกระบังหน้า มีกรรเจียก คือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก เปลือยอกและสวมกรองศอ มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขนและกำไล นุ่งซิ่นที่ในเมืองน่านเรียกว่า “ซิ่นม่าน” คำว่า “ม่าน” ในภาษาล้านนาแปลว่าพม่า ผ้าซิ่นม่านอาจจะได้รับอิทธิพลโครงสร้างมาจากซิ่นของหญิงชาวพม่า เลยนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อของซิ่นชนิดนี้ มีลักษณะการทอเป็นเส้นในแนวขวางลำตัว แต่มีการแบ่งช่องไม่เท่ากัน เเละจะมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ ซิ่นม่านถือเป็นผ้าซิ่นอีกชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉาพ สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น
ตัวปราสาทในภาพ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับวิหารในวัดของล้านนา คือ เป็นหลังคาปีกนกลดสองขั้น ไม่ยกพื้นสร้างอยู่บนดิน
Physical Data