Description
Digital Data
ภาพพระบฏชุดที่ แผ่นที่ อักษรล้านนาประกอบในภาพดังต่อไปนี้
อักษรด้านซ้าย ด้านหน้าช้าง หิมพาน
อักษรใต้ท้องช้าง พราม 4 ฅน ทวยขอม้า
อักษรด้านล่าง เหนือรูปละมั่งคำ รมํ(ละมั่ง)ฅำ 4 ตัว
อักษรด้านหลังละมั่งคำ ทานขัน
อักษรเหนือกลุ่มภาพราชรถ พระยาเวสสันตร นามมัทรี
ภาพกัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ ล่างสุดของภาพพระบฏเป็นภาพพระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหาและชาลี ขณะประทับรถม้าหลังจากที่ถูกขับไล่จากชาวเมืองและเสด็จออกจากเมืองสิพี ระหว่างทางมีพราหมณ์ทั้ง 4 มาขอม้าทรงจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรได้ให้ม้าแก่พราหมณ์ทั้ง 4 กลางภาพจะเห็นว่าพราหมณ์ทั้ง 4 ได้ขี่ม้าจากไป ด้านบนเป็นเหตุการณ์ที่พราหมณ์ทั้ง 8 ขี่ช้างปัจจัยนาเคนกลับเมืองกลิงคราช เครื่องทรงของพระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหาและชาลีเป็นเครื่องทรงกษัตริย์ของไทย แต่พระเวสสันดรน่าจะทรงสวมโสร่งลุนตยา-อชิค ที่เป็นโสร่งของพม่า เครื่องแต่งกายของพราหมณ์ทั้ง 8 เป็นการเขียนภาพที่น่าสนใจมากคือ เป็นการแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลจากการแต่งกายของชายในกรุงเทพคือ สวมเสื้อแขนยาวนุ่งโจงกระเบนไว้ผมสั้น บางคนสวมหมวกและไว้หนวดที่น่าจะเป็นอิทธิพลของชาติตะวันตกที่รับผ่านมาจากทางกรุงเทพอีกทอดหนึ่ง แต่การแต่งกายมีหลากหลายแบบทำให้ดูน่าสนุกสนาน
พระบฏ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา ในล้านนาเรียกกันว่า “ตุงค่าว” หรือ ตุงค่าวธรรม ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เทศน์มหาชาติ เเละตั้งธรรมหลวง เป็นต้น |
Physical Data