Description
Digital Data
ภาพพระบฏชุดที่ แผ่นที่ อักษรล้านนาประกอบในภาพดังต่อไปนี้
อักษรด้านล่างซ้าย หน้ารูปราชรถ นายสารถี แล
อักษรข้างผู้หญิงอุ้มเด็ก ถงฅำ
อักษรด้านขวา ด้านขวาของรูปปราสาท ทสสวลกถาทสสพร ประสูดลูกแล นางผุดสรี
อักษรด้านล่างภาพ ใต้ลายเชิง หิมมพาน
เป็นภาพกัณฑ์ที่ 1 กัณฑ์ทศพร เป็นเรื่องของนางผุสดีพระมารดาของพระเวสสันดร เรื่องของพระนางผุสดีนี้มีอยู่ว่า ในอดีตชาติเป็นมเหสีของท้าวอมรินทราธิราชทรงพระนามว่าผุสดี ครั้งเมื่อถึงวาระที่จะต้องจุติมาเกิดในโลกมนุษย์เป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ท้าวสักกะเทวราชสวามีทรงทราบว่าพระนางผุสดีเทพอัปสรจะสิ้นบุญ จึงพาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก แล้วประสาทพรตามที่พระนางผุสดีขอประทานพร 10 ประการ คือ
– ขอให้พระนางได้ประทับอยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีพีราชแห่งนครสีพี
– ขอให้ดวงเนตรทั้งสองมีสีดำประดุจตาลูกเนื้อทราย
– ขอให้มีพระขนงโก่งงามเขียวดุจสร้อยคอนกยูง
– ขอให้มีพระนามว่าผุสดีเหมือนเดิม
– ขอให้มีพระโอรสที่ทรงพระเกียรติยศเกรียงไกรยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลายและมีพระราชศรัทธาในการกุศล
– ในเวลาทรงพระครรภ์ขออย่าให้ครรภ์นูนปรากฏดังสตรีสามัญ
– ขอให้พระถันทั้งคู่งามในเวลาทรงครรภ์และเมื่อประสูติแล้วขออย่าให้หย่อนคล้อย
– ขอให้เส้นพระเกศาดำเป็นมันดุจสีปีกแมลงค่อมทองตลอดไปอย่าได้หงอกขาว
– ขอให้พระฉวีละเอียดดุจดังทองคำธรรมชาติสดใสสง่างามไม่มีที่ตำหนิ
– ขอให้ทรงมีโอกาสปลดปล่อยนักโทษประหารชีวิตให้พ้นโทษ
ซึ่งสมเด็จพระอมรินทราธิราชก็ทรงประสาทพรให้ได้ดังประสงค์
ในภาพจะเห็นพระนางผุสดีอุ้มพระเวสสันดรขณะตอนยังเป็นทารกอยู่บนราชรถแวดล้อมด้วยนางสนมกำนัล การแต่งกายของพระนางผุสดีและนางกำนัลเป็นรูปแบบของการแต่งกายของหญิงชาวไทยวนคือ มีผ้าแถบมาห่มแบบสไบเรียกว่าการห่มแบบ”สะหว้ายแล่ง”หรือบางคนนำผ้ามาคลุมไหล่ นุ่งผ้า”ซิ่นต๋า”เป็นผ้าซิ่นที่มีลวดลายเส้นในแนวขวางลำตัว มีการทำผมมุ่นมวยต่ำไว้ด้านหลัง ที่ล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหญิงชาวไทยวนในแถบนี้ ด้านข้างพระนางผุสดีมีย่ามพื้นขาวมีลวดลายสีแดงที่เรียกว่าย่าม “แซงแดง”ซึ่งเป็นรูปแบบของย่ามของชาวไทลื้อบรรจุทองคำแขวนอยู่ด้านข้าง สารถีขับราชรถแต่งกายแบบชายไทยในภาคกลางคือใส่เสื้อแขนยาว สวมหมวกทรงสูง นุ่งโจงกระเบน ส่วนราชรถเป็นรูปแบบของล้านนาที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมของพม่า
พระบฏ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา ในล้านนาเรียกกันว่า “ตุงค่าว” หรือ ตุงค่าวธรรม ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เทศน์มหาชาติ เเละตั้งธรรมหลวง เป็นต้น |
Physical Data