นิทรรศการช่างภาพและภาพถ่ายของเชียงใหม่ในอดีต ครั้งที่ 1

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานภาพถ่ายที่หาชมได้ยากของช่างถ่ายภาพเมืองเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงในอดีต ตั้งแต่ผลงานที่นับว่าเป็นช่างถ่ายภาพชาวเชียงใหม่ท่านแรกคือ หลวงอนุสารสุนทรที่ท่านได้เปิดร้านรับถ่ายภาพเป็นร้านแรกของเมืองเชียงใหม่ชื่อ  “ชัวย่งเส็ง” ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2440 ผลงานภาพถ่ายของท่านนับว่าเป็นผลงานภาพถ่ายที่ทรงคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังได้นำผลงานภาพถ่ายของช่างถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นนามว่า Morinosuke Tanaka หรือที่ชาวไทยเรียกว่า เอ็ม ทานากะ ที่ได้มาเปิดร้านรับถ่ายภาพเป็นร้านที่สองของเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2454 และในนิทรรศการครั้งนี้ยังได้นำผลงานภาพถ่ายของคุณบุญเสริม ศาสตราภัย ที่นับเป็นช่างถ่ายภาพที่สร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายอันหลากหลายที่ก่อให้เกิดคุณานุประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ยังได้นำผลงานภาพถ่ายของช่างถ่ายภาพท่านอื่นๆที่หาชมได้ยากอันประกอบด้วย ร้านบุญมา ร้านเต็กหมัน และร้านฉายาลักษณ์ รวมถึงช่างภาพชาวต่างประเทศที่ได้มาบันทึกภาพถ่ายของเมืองเชียงใหม่ช่วงปี พ.ศ.2497-2504 นำมาจัดแสดงให้ชมอีกด้วย

ระยะเวลาจัดแสดง
8 กุมภาพันธ์ 2562 – 10 พฤษภาคม 2562

หลวงอนุสารสุนทร

หลวงอนุสารสุนทร เดิมชื่อว่า สุ่นฮี้ นามสกุล ชุติมา เกิดเมื่อเดือน 12 ปีเถอะ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2410 ที่บ้านทุ่งกู่ช้าง จังหวัดลำพูน เมื่อมารดาของหลวงอนุสารสุนทรเสียชีวิตลง บิดาก็ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใต้วัดเกตุการาม อยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าอุปราชหอหน้าบุญทวงศ์ ส่วนหลวงอนุสารสุนทรยังคงอยู่กับพี่สาวคนโตที่บ้านปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จนอายุได้ 16 ปีจึงย้ายเข้ามาอยู่เชียงใหม่กับบิดา พออายุได้ 18 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม หลวงอนุสารสุนทรจึงได้ขยายการค้าให้ใหญ่ขึ้น โดยสร้างเรือนไม้กระดานหลังเล็ก ๆ ขึ้นด้วยฝีมือตนเอง ตลอดจนโต๊ะตู้ที่ใช้ในการค้าขายก็ทำขึ้นเองทั้งสิ้น และยังรับเป็นช่างแก้ตะเกียงลานนาฬิกา ตลอดจนเป็นช่างสลักลวดลายต่าง ๆ และเป็นช่างภาพรูปด้วย เมื่ออายุได้ 21 ปี หลวงอนุสารสุนทรได้สมรสกับนางคำเที่ยง (นางอนุสารสุนทร) มีบุตรธิดา รวม 6 คน จากนั้นได้สมรสกับนางอโนชา สุวรรณรังษี มีบุตรธิดารวมอีก 5 คน โดยเป็นต้นตระกูล “นิมมานเหมินท์” และ “ชุติมา” ปี พ.ศ.2425 หลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยงได้ตั้งห้าง “ชัวย่งเส็ง” ที่บริเวณถนนวิชยานนท์และได้สร้างเป็นตึกคอนกรีตในปี พ.ศ.2440 ปัจจุบันคือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลอนุสารสุนทรเชียงใหม่ หลวงอนุสารสุนทรท่านเป็นพ่อค้าที่เล็งการไกล นอกจากจะเปิดเป็นร้านค้าแล้วภายหลังยังเปิดแผนกถ่ายรูปขึ้นอีกด้วย หลวงอนุสารสุนทรได้เรียนรู้การถ่ายภาพจากพระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล) ซึ่งถือเป็นครูคนแรกที่สอนวิชาการถ่ายภาพให้กับหลวงอนุสารสุนทร หลังจากที่ท่านเปิดแผนกถ่ายรูปของร้านชั่วย่งเส็งไม่นานก็ได้รับความสนใจจากบรรดาข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ต่างนิยมมาถ่ายรูปที่ร้านของหลวงอนุสารสุนทร ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติ ร้านชั่วย่งเส็ง จึงเป็นร้านถ่ายรูปร้านแรกของเชียงใหม่และหลวงอนุสารสุนทรจึงเป็นนักถ่ายรูปอาชีพคนแรกของเชียงใหม่ในเวลานั้นด้วย

เอ็ม ทานากะ

ภาพถ่ายจากร้านรับถ่ายภาพ เอ็ม ทานากะ เป็นร้านรับถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นคนแรกที่มาเปิดในเมืองลำปางและเชียงใหม่ ร้านรับถ่ายภาพของ เอ็ม ทานากะ ที่เมืองลำปางเปิดดำเนินการเพียงแค่ 2 ปีในช่วงประมาณปี พ.ศ.2452 ถึง พ.ศ.2453 และหลังจากนั้นจึงย้ายมาเปิดร้านรับถ่ายภาพที่เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่เชิงสะพานนวรัฐข้างโรงแรมศรีประกาศในช่วงประมาณปี พ.ศ.2454 ร้านรับถ่ายภาพของ เอ็ม ทานกะ ทั้งที่เมืองลำปางและเชียงใหม่เป็นร้านรับถ่ายภาพ portrait ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเชียงใหม่เป็นอย่างแพร่หลายตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ได้นำผลงานภาพถ่าย portrait ที่ประชาชนทั่วไปได้ไปใช้บริการร้านรับถ่ายภาพนำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นถึงผลงานของ เอ็ม ทานากะ ในด้านอื่นๆ

บุญมา

ร้านรับถ่ายภาพ บุญมา เจ้าของคือคุณบุญมา ภิญโย ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว ตั้งอยู่บนถนนเลียบแม่น้ำปิงเลยจากร้านของ เอ็ม ทานากะ ปัจจุบันคือบริเวณริมปิงซูเปอร์สโตร์ ไม่ทราบปีที่เปิดและปิดกิจการ

เต็กหมัน

ร้านเต็กหมัน เจ้าของคือ นายเต็กหมัน แซ่จัง ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว ตั้งอยู่ติดสะพานแม่ข่า ถนนช้างม่อย ปัจจุบันคืออาคารบริษัทจรัลธุรกิจและร้านปืนจรัล ร้านเต็กหมันได้เปิดกิจการประมาณก่อนปี พ.ศ.2490 และได้ปิดตัวลงประมาณก่อนปี พ.ศ.2518

ภาพถ่ายเทศกาลสงกรานต์

ผลงานภาพถ่ายของคุณบุญเสริม ศาสตราภัย ภาพถ่ายชุดนี้เป็นภาพถ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ บริเวณแม่น้ำปิงและเชิงสะพานนวรัฐ ปี พ.ศ.2507

สะพานนวรัฐ

ผลงานภาพถ่ายของคุณบุญเสริม ศาสตราภัย ชุดการก่อสร้างสะพานนวรัฐรุ่นที่ 3 คุณบุญเสริม ศาสตราภัย ได้ทำการบันทึกภาพถ่ายการรื้อสะพานนวรัฐรุ่นที่ 2 ในปี พ.ศ.2509 และก่อสร้างสะพานนวรัฐรุ่นที่ 3 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2510 ภาพถ่ายชุดนี้จึงถือได้ว่าเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่

ภาพถ่ายวัดต่างๆด้วยฟิล์ม Infrared

ผลงานภาพถ่ายของคุณบุญเสริม ศาสตราภัย ภาพถ่ายชุดนี้เป็นภาพถ่ายวัดต่างๆในเมืองเชียงใหม่ด้วยฟิล์ม Infrared ซึ่งในอดีตนั้นเป็นของที่หาได้ยากอีกทั้งมีกรรมวิธีในการถ่ายภาพล้างและอัดขยายค่อนข้างยุ่งยาก แต่คุณบุญเสริม ศาสตราภัย ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิคต่างๆจนสามารถตั้งแต่ บันทึกล้างและอัดขยาย ภาพถ่ายได้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Germane Prull

ผลงานภาพถ่ายของ Germane Prull ช่างถ่ายภาพชาวอเมริกันที่ได้เขามาบันทึกภาพถ่ายในเมืองเชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ.2498 จนถึง พ.ศ.2505 Germane Prull ได้บันทึกภาพถ่ายวัดในมุมต่างๆที่เราสามารถได้เห็นภาพถ่ายที่แปลกตาออกไป ทางหอภาพถ่ายจึงได้นำมาจัดแสดงให้เห็นถึงภาพถ่ายที่มีมุมมองแปลกตาออกไป เพื่อเป็นองค์ความรู้อีกด้านให้แก่ผู้ชม